ธรณีสัณฐานและวัตถุต้นกำเนิดดินในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

   

 

1.1.ธรณีสัณฐานและวัตถุต้นกำเนิดดินในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ลักษณะทางธรณีสัณฐานของจังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

  1.1.1 ลักษณะธรณีสัณฐานที่เกิดจากวัสดุที่พัดพามาจากที่อื่น (land forms in transported material) ประกอบด้วย

 1) หาดทรายและสันทราย (beach and dune formation) พบอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล

ตั้งแต่อำเภอขนอมลงมาทางอำเภอสิชล  อำเภอท่าศาลา และเป็นแนวสันทรายเก่าต่อลงไปผ่านอำเภอเมืองอำเภอพระพรหม ด้านตะวันออกของอำเภอร่อนพิบูลย์ และตอนเหนือของอำเภอชะอวด

                2) ที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงของตะกอนน้ำทะเลใหม่ (active tidal flat of marine deposits) พบอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลตอนบนของอำเภอขนอมกระจายอยู่ในอำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา และเป็นแนวยาวตลอดชายฝั่งทะเล ตั้งแต่อำเภอเมือง ผ่านอำเภอปากพนัง จนถึงอำเภอหัวไทร ตามปกติจะมีป่าชายเลนขึ้นในปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งไปมากแล้ว

                3) ที่ราบลุ่มน้ำทะเลเคยขึ้นถึงตะกอนน้ำทะเลเก่า และตะกอนน้ำกร่อย (former tidal flat of marine deposits and brackish water deposit) อยู่ถัดจากที่ราบน้ำทะเลขึ้นถึงของตะกอนน้ำทะเลใหม่ ขึ้นมา พบอยู่ตอนบนของอำเภอขนอม ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณด้านตะวันออกของอำเภอเมือง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร และด้านตะวันออกของอำเภอชะอวด

                4) ที่ราบน้ำท่วมถึงของตะกอนลำน้ำค่อนข้างใหม่ (flood plains of recent river alluvium) ประกอบด้วยสันดินริมน้ำซึ่งใช้ปลูกไม้ผล ยางพารา และที่ราบลุ่มใช้ปลูกข้าว บริเวณส่วนใหญ่จะเป็นแนวยาวถัดจากเทือกเขาซึ่งอยู่ตอนกลางของจังหวัด ตั้งแต่ด้านตะวันออกของอำเภอสิชล และอำเภอท่าศาลา ด้านตะวันตกของอำเภอเมือง ด้านตะวันออกของอำเภอร่อนพิบูลย์ และอำเภอชะอวด ด้านตะวันตกของจังหวัดตั้งแต่อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอฉวาง และอำเภอทุ่งสง

                5) ลานตะพักลำน้ำระดับสูงของตะกอนรูปพัดจากตะกอนลำน้ำเก่าและหินดาดเชิงเขา (high alluvial terrace and fan of old alluvium and coluvium) ส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด บริเวณอำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอนาบอน อำเภอบางขันด้านตะวันตกของอำเภอเมืองและกระจายอยู่ทางอำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอพระพรหม อำเภอทุ่งสง และอำเภอชะอวด

 

  1.1.2 ลักษณะธรณีสัณฐานที่เกิดจากวัสดุตกค้างจากวัตถุต้นกำเนิดดิน (landform in residual material) ประกอบด้วย

               1) พื้นผิวที่เหลือค้างจากการกัดกร่อนหรือกัดเซาะบนที่ราบ โครงสร้างของหินชนิดต่างๆ (dissected erosion surfaces and structural plateaux occuring over various rocks) จะพบอยู่ตามชายเขาทั่วๆไป

               2) ภูมิประเทศแบบคาสต์ (Krast) บริเวณใกล้เขาหินปูนพื้นที่เป็นดินสีแดง (limestone outcrops with terra rosa) พบอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอขนอม และด้านตะวันตกของอำเภอสิชล

               3) บริเวณเขาและภูเขา (hill and mountain) ลักษณะเป็นเนินเขาและเทือกเขาสูง มีความลาดชันมากกว่าร้อยละ 35 จะอยู่เป็นแนวตอนกลางของจังหวัด ตั้งแต่อำเภอขนอมลงมาจนสุดอำเภอทุ่งสงและกระจายอยู่ทางอำเภอบางขัน และด้านตะวันตกของอำเภอทุ่งสง

   1.1.3  ลักษณะธรณีสัณฐานที่เกิดจากวัสดุอินทรีย์ (landform in organic material) เป็นที่ลุ่มเป็นบึงหรือพรุ มีการสะสมของวัสดุอินทรีย์ พบอยู่ทางใต้ของจังหวัด บริเวณอำเภอร่อนพิบูลย์และอำเภอชะอวด
.